พวกเจ้ามัลละถามถึงวิธีปฏิบัติพระสรีระกับพระอานนท์เถระ แล้วทำตามคำของพระเถระนั้นคือ ห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด จากนั้นอัญเชิญ พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า ๔ คน สระสรงเกล้า และนุ่งห่มผ้าใหม่ พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้ จึงสอบถามสาเหตุ พระอนุรุทธะ พระเถระ แจ้งว่า "เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ ๕๐๐ รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้" ก็เทวดา เหล่านั้น เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี
ครั้งนั้นพระมหากัสสปะเถระและหมู่ภิกษุเดินทางจากเมืองปาวา หมายจะเข้าเฝ้าพระศาสดา ระหว่างทาง ได้พบกับพราหมณ์คนหนึ่ง ถือดอกมณฑารพสวนทางมา พระมหากัสสปะได้เห็นดอกมณฑารพก็ทราบว่า มีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น ดอกไม้นี้มีเพียงในทิพย์โลก ไม่มีในเมืองมนุษย์ การที่มีดอกมณฑารพอยู่ แสดงว่าจะต้องมีอะไร เกิดขึ้นกับพระศาสดา พระมหากัสสปะถามพราหมณ์นั้นว่า ได้ข่าวอะไรเกี่ยวกับพระศาสดาบ้างหรือไม่ พราหมณ์นั้นตอบว่า พระสมณโคดมได้ปรินิพพานไป ล่วงเจ็ดวัน แล้ว "พระศาสดาปรินิพพานแล้ว" คำนี้เสียดแทงใจของพระภิกษุปุถุชนยิ่งนัก พระภิกษุศิษย์ของพระมหากัสสปะบางรูป ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็กลิ้งเกลือกไปบนพื้น บ้างก็คร่ำครวญร่ำไห้ ว่า "พระศาสดาปรินิพพานเสียเร็วนัก" ส่วนพระภิกษุผู้เป็นอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว ย่อมเกิดธรรมสังเวชว่า "แม้พระศาสดา ผู้เป็นดวงตาของโลก ยังต้องปรินิพพาน สังขารธรรมไม่เที่ยงแท้เสียจริงหนอ"
แต่ในหมู่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้น เสียงของสุภัททะ วุฑฒบรรพชิตก็ดังขึ้น "ท่านทั้งหลายอย่าไปเสียใจเลย พระสมณโคดมนิพพานไปซะได้ก็ดีแล้ว จะได้ไม่มีคนมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช ว่าสิ่งนี้สมควรกับเรา สิ่งนี้ไม่สมควรกับเรา" คำพูดของหลวงตาสุภัททะ เป็นที่สังเวชต่อ พระมหากัสสปะยิ่งนัก ท่านคิดว่า "พระผู้มีพระภาคยังนิพพานไปได้ไม่นาน ก็มีภิกษุบาปชนกล่าวจาบจ้วงพระศาสดา จาบจ้วงพระธรรมวินัยเช่นนี้ ถ้าเวลาผ่านไป ก็คงมีภิกษุบาปชนเช่นนี้ กล่าวจาบจวงพระธรรมวินัยเกิดขึ้นเป็นอันมาก" แต่ท่านก็ยั้งความคิดเช่นนี้ไว้ก่อน เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะกระทำสิ่งใดๆ นอกจากจะต้องจัดการ ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสียก่อน
เมื่อพระมหากัสสปะ และภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางมาถึงสถานที่ถวายพระเพลิงมกุฏพันธนเจดีย์แล้ว ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี กระทำประทักษิณ รอบเชิง ตะกอน ๓ รอบ พระมหากัสสปะเปิดผ้าทางพระบาทแล้ว ถวายบังคมพระบาททั้งสองด้วยเศียรเกล้า โดยท่านกำหนดว่าตรงนี้เป็นพระบาทแล้ว เข้าจตุตถฌาน อันเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากฌานแล้วอธิษฐานว่า "ขอพระยุคลบาท ของพระองค์ที่มีลักษณะเป็นจักรอันประกอบด้วยซี่พันซี่ ขอจงชำแรกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ พร้อมทั้งสำลี ไม้จันทน์ ออกเป็นช่อง ประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าของข้าพระองค์ด้วยเถิด" เมื่ออธิษฐานเสร็จ พระยุคลบาทก็แหวกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ออกมา พระเถระจับยุคลบาทไว้มั่น และน้อมนมัสการเหนือเศียรเกล้าของตน มหาชนต่างเห็นความอัศจรรย์นั้น ก็ส่งเสียงแสดงความอัศจรรย์ใจ เมื่อพระเถระและภิกษุ ๕๐๐ รูป ถวายบังคมแล้ว ฝ่าพระยุคลบาทก็เข้าประดิษฐานในที่เดิม ครั้นแล้วเปลวเพลิงก็ลุกโพลงท่วมพระสรีระของพระศาสดา ด้วยอำนาจของเทวดา ในการเผาไหม้นี้ ไม่มีควันหรือเขม่าใดๆฟุ้งขึ้นเลย เมื่อเพลิงใกล้จะดับ ก็มีท่อน้ำไหลหลั่งลงมาจากอากาศ และมีน้ำพุ่งขึ้นจากกองไม้สาละ ดับไฟที่ยังเหลืออยู่นั้น เหล่าเจ้ามัลละก็ปะพรมพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยของ หอม ๔ ชนิด รอบๆบริเวณ ก็โปรยข้าวตอกเป็นต้น แล้วจัดกองกำลังอารักขา จัดทำสัตติบัญชร (ซี่กรงทำด้วยหอก) เพื่อป้องกันภัย แล้วให้ขึงเพดานผ้าไว้เบื้องบน ห้อยพวง ของหอม พวงมาลัย พวงแก้ว ให้ล้อมม่านและเสื่อลำแพนไว้ทั้งสองข้าง ตั้งแต่มกุฏพันธนเจดีย์ จนถึงศาลาด้านล่าง ให้ติดเพดานไว้เบื้องบน ตลอดทางติดธง ๕ สีโดยรอบ ให้ตั้งต้นกล้วย และหม้อน้ำ พร้อมกับตามประทีปมีด้ามไว้ตามถนนทุกสาย พวกเจ้ามัลละนำพระธาตุทั้งหลายวางลงในรางทองแล้ว อัญเชิญไว้บนคอช้าง นำพระธาตุเข้าพระนครประดิษฐานไว้บนบัลลังก์ที่ทำด้วยรัตนะ ๗ อย่าง กั้นเศวตร ฉัตรไว้เบื้องบน แล้วจัดกองกำลังอารักขาอย่างนี้คือ "จัดเหล่าทหารถือหอกล้อมพระธาตุไว้ จากนั้นจัดเหล่าช้างเรียงลำดับกระพองต่อกันล้อมไว้ พ้นจากเหล่าช้างก็เป็น เหล่า ม้าเรียงลำดับคอต่อกัน จากนั้นเป็นเหล่ารถ เหล่าราบรอบนอกสุดเป็นทหารธนูล้อมอยู่" พวกเจ้ามัลละจะจัดฉลองพระบรมธาตุตคลอด ๗ วัน ต้องการความมั่นใจว่า ๗ วัน นี้แม้จะมีการละเล่นก็เป็นการละเล่นที่ไม่ประมาท
หลังจากนั้น เมื่อข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระสรีระกลายเป็นพระบรมสารีริกธาตุแล้ว เหล่ากษัตริยน์ในนครต่างๆ เมื่อทราบข่าวก็ปรารถนาจะได้พระบรมธาตุไปบูชา จึงส่งสาสน์ ส่งฑูตมาขอพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยเหตุผลว่า "พระผู้มีพระภาคของเรา" "พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น กษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราจึงมีส่วนที่จะได้พระบรมธาตุบ้าง" เหล่ามัลละกษัตริย์ก็ไม่ยอมยกให้ ด้วยเหตุผลว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานในเมืองของเรา" ดังนั้น กษัตริย์ในพระนครต่างๆ เช่น พระเจ้าอชาตศัตรู จอมกษัตริย์แคว้นมคธ และกษัตริย์เหล่าอื่นๆ จึงยกกองทัพมาด้วยหวังว่า จะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อยกกองทัพ มาถึงหน้าประตูเมือง ทำท่าจะเกิดศึกสงครามแย่งชิงพระบรมธาตุ ครั้งนั้น พราหมณ์ผู้ใหญ่คนหนึ่ง คือ โทณพราหมณ์ หวั่นเกรงว่าจะเกิดสงครามใหญ่ จึงขึ้นไปยืน บนป้อมประตูเมือง ประกาศว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ทรงสรรเสริญขันติ สรรเสริญสามัคคีธรรม การที่เราจะมาประหัตประหารเพราะแย่งชิง พระบรมธาตุ ของพระองค์ผู้ประเสริฐ ย่อมไม่สมควร ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย จงยินดีในการที่จะแบ่งกันไปเป็น ๘ ส่วน และนำไปบูชายังบ้านเมืองของท่านทั้งหลายเถิด เพราะ ผู้ศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีมาก"
ในพระไตรปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตรได้กล่าวถึงเหตุการณ์ขณะที่โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ว่า หมู่คณะเหล่านั้นตอบว่า ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นขอท่าน นั่นแหละจงแบ่ง พระสรีระพระผู้มีพระภาคออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน ให้เรียบร้อย เถิด โทณ พราหมณ์ รับคำของ หมู่คณะเหล่านั้นแล้ว แบ่งพระสรีระพระผู้มีพระภาค ออกเป็น ๘ ส่วนเท่ากันเรียบร้อย จึงกล่าว กะหมู่คณะเหล่านั้นว่า ดูกรท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ขอพวกท่าน จงให้ตุมพะนี้แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้า จักกระทำพระสถูป และกระทำการฉลองตุมพะบ้าง ทูตเหล่านั้นได้ให้ตุมพะแก่โทณพราหมณ์ ฯ
พวกเจ้าโมริยะเมืองปิปผลิวัน ได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาค เสด็จปรินิพพาน ในเมืองกุสินารา จึงส่งทูตไปหาพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาค เป็นกษัตริย์ แม้ เราก็เป็นกษัตริย์ เราควรจะได้ส่วนพระสรีระ พระผู้มีพระภาคบ้าง จักได้กระทำพระสถูปและการ ฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละ เมือง กุสินาราตอบว่า ส่วนพระสรีระพระผู้มี พระภาคไม่มี เราได้ แบ่งกันเสียแล้ว พวกท่านจงนำพระอังคารไปแต่ที่นี่เถิด พวกทูตนั้น นำ พระ อังคารไปจากที่นั้นแล้ว ฯ
ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้กระทำ พระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค ในพระนครราชคฤห์ พวก กษัตริย์ ลิจฉวีเมืองเวสาลี ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มี พระภาคในเมืองเวสาลี พวกกษัตริย์ ศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ก็ได้กระทำพระสถูป และการฉลอง พระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกบิลพัสดุ์ พวกกษัตริย์ถูลีเมือง อัลกัปปะ ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมือง อัลกัปปะ พวกกษัตริย์ โกลิยะเมืองรามคาม ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลอง พระสรีระพระผู้มี พระภาคในเมืองรามคาม พราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะ ก็ได้ กระทำพระสถูป และการฉลอง พระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวฏฐทีปกะ พวก เจ้ามัลละเมืองปาวา ก็ได้กระทำพระสถูปและ การฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค ในเมืองปาวา พวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา ก็ได้กระทำพระสถูป และการ ฉลอง พระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกุสินารา โทณพราหมณ์ ก็ได้กระทำสถูปและ การฉลอง ตุมพะ พวกกษัตริย์โมริยะ เมืองปิปผลิวัน ก็ได้กระทำพระสถูปและการ ฉลองพระอังคารในเมือง ปิปผลิวัน ฯ พระสถูปบรรจุพระสรีระมีแปดแห่ง เป็นเก้าแห่งทั้งสถูปบรรจุตุมพะ เป็นสิบแห่ง ทั้งพระสถูปบรรจุพระอังคาร ด้วยประการฉะนี้ การแจกพระธาตุและการก่อ พระสถูปเช่นนี้ เป็นแบบอย่างมาแล้ว ฯ
พระสรีระของพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ แปดทะนาน เจ็ดทะนาน บูชากันอยู่ในชมพูทวีป ส่วนพระสรีระอีกทะนาน หนึ่งของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบุรุษที่ ประเสริฐ อันสูงสุด พวก นาคราชบูชากันอยู่ในรามคาม พระเขี้ยวองค์หนึ่งเทวดา ชาวไตรทิพย์บูชาแล้ว ส่วนอีกองค์หนึ่ง บูชากันอยู่ใน คันธารบุรี อีกองค์หนึ่งบูชากันอยู่ใน แคว้นของพระเจ้ากาลิงคะ อีก องค์หนึ่ง พระยานาคบูชากันอยู่ ฯ ด้วยพระเดชแห่งพระสรีระพระพุทธเจ้า นั้นแหละ แผ่นดินนี้ ชื่อว่า ทรงไว้ซึ่งแก้วประดับแล้วด้วยนักพรตผู้ ประเสริฐที่สุด พระสรีระของพระพุทธเจ้า ผู้มีจักษุนี้ ชื่อว่าอันเขาผู้สักการะๆ สักการะดีแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ใด อันจอมเทพจอมนาคและจอมนระบูชาแล้ว อัน จอมมนุษย์ผู้ประเสริฐสุดบูชาแล้วเหมือนกัน ขอท่านทั้งหลาย จงประนม มือ ถวายบังคมพระสรีระนั้นๆ ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นพระพุทธเจ้า ทั้งหลายหาได้ยากโดยร้อยแห่งกัป ฯ พระทนต์ ๔๐ องค์ บริบูรณ์ พระเกศา และ พระโลมาทั้งหมด พวกเทวดานำไปองค์ละองค์ๆ โดยนำต่อๆ กันไปในจักรวาล ดังนี้แล ฯ ( พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อที่ ๑๕๙-๑๖๒)
ความสำคัญ โดยที่วันอัฏฐมีคือวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นวันที่ตรงกับวันที่ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเป็นวันที่ชาวพุทธต้องวิปโยค และสูญเสียพระบรมสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่ง และเป็นวันควรแสดงธรรมสังเวชและระลึกถึงพระพุทธคุณให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติภาวนามัยกุศล
การบำเพ็ญกุศลเนื่องในพิธีวันอัฏฐมีบูชา การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอัฐมีบูชานี้ มีไม่กี่แห่งที่จัด เพราะในเมืองไทยมักไม่เป็นที่นิยม แม้สมัยก่อนอาจจะมีงานฉลองในพิธีวันอัฏฐมีบูชาบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ก็เลิกราไปมากแล้ว คงมีไม่กี่วัด เฉพาะในกรุงเทพ ที่ยังจัดพิธีเฉลิมฉลองในวันนี้อยู่ เช่นวัดราชาธิวาส ส่วนการบำเพ็ญกุศลในวันนี้ ก็เหมือนกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และมีการเวียนเทียนในตอนค่ำ บางวัดในบางจังหวัด ยังมีการนิยมบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอัฎฐมีบูชานี้อยู่บ้าง บางแห่งถึงกับจัดเป็นงานใหญ่ มีการจำลองเหตุการณ์วันถวายพระเพลิงพุทธสรีระ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลด้วย เช่น วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จ.อุตรดิตถ์
คำถวายดอกไม้ธูปเทียนในวันอัฏฐมีบูชา
ยะมัมหะ โข มะยัง, ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, มัชฌิเมสุ ชะนะปะเทสุ, อะริยะเกสุ มะนุสเสสุ อุปปันโน, ขัตติโย ชาติยา, โคตะโม โคตเตนะ, สักยะปุตโต สักยะกุลา ปัพพะชิโต, สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก, สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ, อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ, นิสสังสะยัง โข โส ภะคะวา, อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน, สุคะโต โลกะวิทู, อนุตตะโร ปุริสทัมมะสาระถิ, สัตถา เทวะมะนุสสานัง, พุทโธ ภะคะวา สวากขาโต โข ปะนะ, เตนะ ภะคะวา ธัมโม, สันทิฏฐิโก, อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ. สุปะฏิปันโน โข ปะนัสสะ, ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ, อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย, ปาหุเนยโย, ทักขิเนยโย อัญชลีกะระณีโย. อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ. อะยัง โข ปะนะ ถูโป(ปฏิมา) ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะ กโต (อุททิสสิ กตา) ยาวะเทวะ ทัสสะเนนะ, ตัง ภะคะวันตัง อะนุสสะริตวา, ปะสาทะสังเวคะปะฏิลาภายะ, มะยัง โข เอตะระหิ, อิมัง วิสาขะปุณณะมิโตปะรัง อัฏฐะมีกาลัง, ตัสสะ ภะคะวะโต สรีรัชฌาปะนะกาละสัมมะตัง ปัตวา, อิมัง ฐานัง สัมปัตตา, อิเม ทัณฑะทีปะธูปะ-, ปุปผาทิสักกาเร คะเหตวา, อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา, ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา, อิมัง ถูปัง(ปะฏิมาฆะรัง) ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ, ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานา.
สาธุ โน ภันเต ภะคะวา, สุจิระปะรินิพพุโตปิ, ญาตัพเพหิ คุเณหิ, อะตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน, อิเม อัมเหหิ คะหิเต, สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ฑีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.
|